ที่ว่าการอำเภอลับแล

เมืองลับแล อยู่ห่างจากตัวเมืองอุตรดิตถ์ ประมาณ 8 กม. ตามทางหลวงหมายเลข 102 ประมาณ 3 กม. เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 1041 ประมาณ 6 กม. เป็นเมืองโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เคยเสด็จมาเมื่อ วันที่ 24 ตุลาคม 2444

 

ความเป็นมาของคำว่า “ลับแล” นั้น ตามข้อสันนิษฐานของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า เดิมชาวเมืองแพร่ เมืองน่าน หนีข้าศึกและความเดือดร้อนมาซุ่มซ่อนตั้งชุมชนอยู่ เนื่องจากเป็นที่ ป่าดงหลบซ่อนตัวง่ายและภูมิประเทศเป็นเมืองอยู่ในระหว่างเขามีที่เนินสลับกับที่ต่ำ คนต่างเมือง ถ้าไม่คุ้นเคยกับภูมิประเทศจะหลงทางได้ง่าย แต่ปัจจุบันมีถนนตัดผ่านทำให้สภาพป่าหมดไป ความลึกลับของเมืองจึงหายไป และยังมีอีกหลายตำนานที่กล่าวถึงเมืองลับแล

 

เรื่องเมืองลับแล เป็นนิทานพื้นบ้านเล่ากันว่าเป็นเมืองของคนดี มีความซื่อสัตย์สุจริต โกหกคำเดียวไม่ได้ ลูกเขยเห็นลูกร้องไห้ กล่อมแบบไหนก็ไม่หยุด หลุดปากหลอกลูกว่า แม่มาแล้ว…เท่านั้นแหละ ก็ต้องออกจากเมือง

 

เมื่อเดินทางมาถึงประตูเมืองลับแล จะพบพิพิธภัณฑ์เมืองลับแลตั้งอยู่ทางด้านขวามือก่อนเข้าสู่เมืองลับแล โดยได้รวบรวมวิถีชีวิต ประวัติของเมือง และการใช้ชีวิตของผู้คนในเมืองลับแล

 

พิพิธภัณฑ์เมืองลับแล ได้จำลองให้เห็นถึงวิถีการใช้ชีวิตของชาวเมืองลับแลในสมัยก่อน

 

เมื่อเดินข้ามสะพานไม้ ที่ได้นำเครื่องปั่นฝ้ายมาประดับตรงสะพานจะพบกี่ทอผ้าขนาดใหญ่ ซึ่งบ่งบอกถึงวิถีการทอผ้าของสาวๆ เมืองลับแล และปัจจุบันอำเภอลับแล เป็นแหล่งผลิตสินค้าหัตถกรรม เช่น ผ้าตีนจก ไม้กวาด นอกจากนั้นยังมีสวนลางสาด

 

บ่อน้ำตรงกลางสวนหลังบ้าน

 

ยุ้งฉาง สำหรับเก็บข้าวของชุมชนเมืองลับแล

 

เครื่องสีข้าวโบราณ ของชาวเมืองลับแล

 

การทำอาหารของชาวเมืองลับแล นิยมทำบนเรือน

 

อาหารขึ้นชื่อของเมืองลับแล คือ หมี่พัน ผู้คนที่มาเยือนเมืองลับแลนั้นจะต้องเสาะหาลองชิมกันสักครั้ง

 

ขอเพียงสัจจะวาจา
แม่มายเมืองลับแล
หญิงที่ควรยกย่อง เชิดชูในคุณความดี
ยอมเสียสละความรักเพื่อธำรงจารีตประเพณี
ของการรักษาวาจาสัตย์ไว้ ซึ่งเป็นคุณสมบัติของชาวเมืองลับแลทุกคน

 

วัดพระแท่นศิลาอาสน์ ตั้งอยู่บนเนินเขาเต่า ตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ติดกับวัดพระยืนพุทธบาทยุคล ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ซึ่งอยู่บนเนินเขาลูกเดียวกันแต่คนละยอด วัดพระแท่นศิลาอาสน์ เป็นวัดโบราณ ไม่ปรากฎหลักฐานว่าผู้ใดสร้าง และสร้างแต่เมื่อใด ในศิลาจารึกครั้งกรุงสุโขทัยไม่ได้มีข้อความกล่าวถึงพระแท่นศิลาอาสน์ เพิ่งมีปรากฎในหนังสือพระราชพงศาวดาร ในรัชสมัยพระเจ้าบรมโกศ พระองค์ได้เสด็จนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ เมื่อปี พ.ศ. 2283 ได้แสดงว่า พระแท่นศิลาอาสน์ได้มีมาก่อนหน้านี้แล้ว จนเป็นที่เคารพสักการะของคนทั่วไปอย่างกว้างขวาง จนพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาเสด็จไปนมัสการ

พระแท่นศิลาอาสน์ เป็นพุทธเจดีย์ เช่นเดียวกับพระแท่นดงรัง เป็นที่เชื่อกันมาแต่โบราณว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งห้าพระองค์ในภัทรกัปนี้ ได้เสด็จและจะได้เสด็จมาประทับนั่งบนพระแท่นแห่งนี้ เพื่อเจริญภาวนา และได้ประทับยับยั้งในเวลาที่ตรัสรู้แล้ว เพื่อโปรดสัตว์ ซึ่งแสดงว่าพระแท่นศิลาอาสน์นี้ มีประวัติความเป็นมาอย่างต่อเนื่อง ในพระพุทธศาสนามายาวนาน ตัวพระแท่นเป็นศิลาแลง มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 8 ฟุต ยาวประมาณ 10 ฟุต สูง 3 ฟุต ที่ฐานพระแท่นประดับด้วยลายกลีบบัวโดยรอบ มีพระมณฑปครอบ อยู่ภายในพระวิหารวัดพระแท่นศิลาอาสน์

 

ในทางตำนานมีคติทีเชื่อว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จยังพื้นที่ใดๆ ภายนอกอินเดียด้วยอิทธิฤทธ์ฌานสมาบัติ และได้ประดิษฐานเจดีย์ หรือตรัสพยากรณ์อะไรไว้ใน ณ แห่งนั้น เป็นคติที่เกิดในลังกาทวีป และประเทศอื่นได้รับเอาไปเชื่อถือด้วย จึงเกิดมีเจดีย์วัตถและพุทธพยาการณ์ ที่อ้างว่าพระพุทธองค์ได้ทรงประดิษฐานเจดีย์ไว้มากบ้างน้อยบ้างทุกประเทศ เฉพาะเมืองไทยมีปรากฎในพงศาวดาร โดยลำดับมาว่า พบรอยพระพุทธบาท ณ ไหล่เขาสุวรรณบรรพต เมื่อรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม รัชกาลพระเจ้าเสือได้เสด็จไปบูชา พระพุทธฉาย ณ เขาปัถวี และ พระบรมโกศ เสด็จไปบูชาพระแท่นศิลาอาสน์

 

 

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น เป็นที่แสดงเครื่องมือจับสัตว์น้ำโบราณ เรือพายโบราณ ชั้นบน แสดงเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตชาววัง ชาวบ้านสมัยก่อน เครื่องจักสาน เครื่องมือตีเหล็ก ก่อสร้าง เครื่องสังฆโลกสมัยสุโขทัย ธรรมาสน์โบราณ พระพุทธรูปที่แกะจากไม้ ต้นโพธิ์โบราณ และพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย สมัยกรุงศรีอยุธยา รวมถึงศิลปวัฒนธรรมของชาวเหนือ เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวัน เวลา 08.00 – 17.00 น.

 

          วัดดอนสัก อยู่ที่หมู่ 6 บ้านต้นม่วง ตำบลบ้านฝาย ห่างจากจังหวัด 9 กม. ตามทางหลวงหมายเลข 1041 มีวิหารที่สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีบานประตูแกะสลักงดงาม ด้านหน้า 1 ประตู ด้านหลัง 2 ประตูแกะสลักด้วยไม้ปรูลึกลงไปประมาณ 4 นิ้ว เป็นลวดลายกนกก้านขดไขว้ ประกอบด้วยรูปหงส์ เทพนมและยักษ์ วัดนี้สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

ความสำคัญของวัดดอนสัก คือบานประตูวัดดอนสัก สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย มีลวดลายสวยงาม ติดตั้งเป็นบานประตูสำหรับวิหารวัดดอนสักสถาปัตยกรรมเชียงแสนปนสุโขทัย ตัวเสาประตูเป็นลายกนกใบเทศสลับลายกนกก้ามปู บานประตูเป็นไม้แกะสลักทั้งบาน รูปลายกนกก้านขด มีรูปสัตว์หิมพานต์แทรกอยู่ในลวดลายกนกต่าง ๆ มีความอ่อนช้อยสวยงาม โดยบานซ้ายและขวานั้นไม่เหมือนกัน แต่เมื่อปิดบานแล้วลวดลายมีความลงตัวเข้ากันได้สนิท

Advertising Zone    Close
 
Online:  1
Visits:  6,972
Today:  4
PageView/Month:  4

ยังไม่ได้ลงทะเบียน

เว็บไซต์นี้ยังไม่ได้ลงทะเบียนยืนยันการเป็นเจ้าของเว็บไซต์กับ Siam2Web.com